บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2567

ราชบุรี สงกรานต์ กลุ่มชาติพันธุ์ไท-ยวนบ้านคูบัว

อบต.คูบัว จัดโครงการจัดงานสืบสานประเพณีวันสงกรานต์ รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติพันธุ์ตามวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์ไท-ยวนบ้านคูบัวหล่อหลอมจิตใจของคนในชุมชนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
ที่วัดโขลงสุวรรณคีรี ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี พระครูใบฎีกาสุพจน์ ธีรวํโส เจ้าอาวาสวัดโขลงสุวรรณคีรี ประธานฝ่ายสงฆ์ นายประยง พิมเพราะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคูบัว ประธานฝ่ายจัดงานโครงการจัดงานสืบสานประเพณีวันสงกรานต์ ประจำปี 2567 โดยมีนางสาวกุลวลี นพอมรบดี สส.ราชบุรี นางจรรยา พิมเพราะ รองนายก อบต.คูบัว กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน, สมาชิกสภา อบต., กลุ่มแม่บ้าน, กลุ่ม อสม. ตำบลคูบัว เข้าร่วมงาน โดยนายธนพงษ์ ปัญญากาญจน์ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลคูบัว กล่าวถึงการจัดงาน เนื่องจากจังหวัดราชบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมด้านเชื้อชาติพันธุ์ ซึ่งการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละชาติพันธุ์ก็มีความเหมือนหรือแตกต่างกันบ้างตามวัฒนธรรมของตน กลุ่มชาติพันธุ์ไท-ยวนบ้านคูบัว เป็นชาติพันธุ์หนึ่งที่อพยพเคลื่อนย้ายจากเมืองเชียงแสนมาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดราชบุรีประมาณ 200 ปีเศษมาแล้ว ดังนั้นประเพณีวัฒนธรรมของชาวไท-ยวนจึงมีลักษณะเหมือนกับประเพณีวัฒนธรรมของชาว ล้านนา
ทางด้าน นางจรรยา พิมเพราะ กล่าวว่า เสน่ห์ประเพณีวัฒนธรรมไท-ยวน จึงมีนักท่องเที่ยวต่างพื้นที่เข้ามาเที่ยวในพื้นที่ตำบลคูบัวเป็นประจำ โดยมองเห็นถึงวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของวิถีชาวบ้าน ทั้งในเรื่องการทอผ้าตีนจก เยี่ยมชมวัดอารามต่างๆ ศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาวไท-ยวน ผ่านทางพิพิธภัณฑ์ และโบราณสถนสมัยทวาราวดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงประเพณีสงกรานต์ ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมากประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีหนึ่งที่มีความสำคัญของชาวไท-ยวนบ้านคูบัว อันสืบเนื่องมาจากอดีตกาลที่จะยึดถือช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของแต่ละปี เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์"
องค์การบริหารส่วนตำบลคูบัว จึงได้จัดกิจกรรมขึ้น ภายใต้ "โครงการจัดงานสืบ สานประเพณีวันสงกรานต์ ประจำปี 2567" โดยมีขบวนแห่วัฒนธรรมไท-ยวน, กิจกรรมสรงน้ำพระ, รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ, ก่อพระเจดีย์ทราย สร้างความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว ทำบุญตักบาตร เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของตำบลคูบัวด้านประเพณีวันสงกรานต์ในท้องถิ่น ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย สร้างสายสัมพันธ์ของชุมชน ให้ข้าราชการ นักเรียนนักศึกษา ตลอดจนพ่อค้าประชาชน มีความเข้มแข็ง หล่อหลอมจิตใจของคนในชุมชนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและเกิดความภาคภูมิใจในขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นสืบสานอนุรักษ์ฟื้นฟู วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีวันสงกรานต์ ในท้องถิ่นตำบลคูบัวให้คงอยู่สืบไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น