บทความที่ได้รับความนิยม

วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ฝุ่นละอองจากโรงสีข้าวกระทบโรงเรียน

ฝุ่นละอองจากโรงสีข้าวกระทบโรงเรียน มีเด็กนักเรียนเกิดอาการผื่นคันตามร่างกาย ไม่สบายและต้องปิดห้องเรียนเรียนหนังสือ 
   เวลา  13.00 น.  วันที่  19 ธันวาคม  2556 นายธัญญารัตน์  พรหมสุทธิ์  หัวหน้าฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี พร้อมด้วยนายประสิทธิ์  จันทร์เทิง  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่  1 และนายวิษณุ  เปี่ยมพูล  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่  4 ตำบลอ่างทอง  อำเภอเมือง  จังหวัดราชบุรี ได้เข้าตรวจสอบโรงเรียนวัดใหญ่อ่างทอง และวัดใหญ่อ่างทอง หมู่ที่  1 ตำบลอ่างทอง  หลังได้รับร้องเรียนจากประชาชนผู้ปกครองนักเรียนว่า มีเด็กนักเรียนเกิดอาการผื่นคันตามร่างกาย แสบจมูก หายใจติดขัดไม่สบายและต้องปิดห้องเรียนในการเรียนหนังสือแต่ละวันทั้งโรงเรียน จึงเดินทางไปตรวจสอบและขอพบนายโสภณ  ตำนานจิตร  ผู้อำนวยการโรงเรียนเพื่อขอเข้าตรวจสอบห้องเรียนต่าง ๆ ซึ่งมีฝุ่นละอองเกิดขึ้นประมาณกว่า 1 อาทิตย์แล้ว ได้รับความเดือดร้อนมาก ตากผ้าไม่ได้ หายใจติดขัด   
             นายประสิทธิ์  จันทร์เทิง  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่  1 ตำบลอ่างทองกล่าวว่า เคยแจ้งเรื่องปัญหาฝุ่นละอองจากโรงสีไปกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเทศบาลห้วยชินสีห์  หน่วยงานสิ่งแวดล้อม  อุตสาหกรรม นายอำเภอเมือง เมื่อปีที่แล้ว  และได้เข้ามาดูแล้วแต่ก็ยังคงมีสภาพเดิมไม่ได้รับการแก้ไข  ผลกระทบจากฝุ่นละอองเกิดกับพระภิกษุ ชาวบ้าน และนักเรียนเป็นบริเวณกว้าง ชาวบ้านตากผ้าไม่ได้เนื่องจากจะมีฝุ่นละอองเกาะอยู่จำนวนมาก เมื่อสวมใส่จะเกิดอาการคัน หากนำไม้กวาดบริเวณพื้นห้องจะพบมีฝุ่นละอองอยู่จำนวนมาก  ตากจีวรกลางแจ้งไม่ได้ต้องเข้าไปตากในห้อง ส่วนนักเรียนก็ต้องปิดห้องเรียนหนังสือ ซึ่งวัดและโรงเรียนห่างจากปล่องโรงสีเกือบ 100 เมตร โดยโรงสีอยู่ติดกับโบสถ์ของวัดเป็นปัญหามากจนต้องปิดประตูโบถส์ นอกจากนี้ยังมีนกพิราบมาทำรังอาศัยที่บริเวณโบสถ์ เนื่องจากหากินข้าวเปลือกได้ใกล้กับรังด้วย เคยพูดคุยกับเจ้าของโรงสีไทยรุ่งแล้ว และรับปากจะดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่เรื่องก็เหมือนเดิม
                    นายโสภณ  ตำนานจิตร  ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดใหญ่อ่างทอง  กล่าวว่า โรงเรียนสอนชั้นระดับอนุบาล  1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่  6 มีนักเรียนรวม  126 คน ตอนนี้ถึงฤดูลมเหนือพัดมาก็จะมีฝุ่นละอองมาเยอะตกที่โรงเรียนช่วงนี้ แต่ถ้าหากเป็นเดือนอื่นจะไม่มี จะไปทางหมู่บ้านหมด  ซึ่งช่วงหน้าหนาวจะมาทางโรงเรียน เด็กๆจะเกิดอาการคันตามร่างกาย มีผู้อำนวยการคนก่อนเคยแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วแต่เรื่องเงียบหาย  ตอนนี้ได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนคือ ปิดห้องเรียน และจะต้องเตรียมผ้าเพื่อปิดจมูกให้แก่เด็กๆ เพื่อแก้ปัญหาในเบื้องต้นก่อน

                  นายธัญญารัตน์  พรหมสุทธิ์  หัวหน้าฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรมจังหวัด กล่าวว่า ปัญหาเกิดจากโรงสีข้าวทำให้เกิดปัญหาฝุ่นละออง ทำให้เกิดควันและฝุ่นละอองออกมาภายนอก ส่งผลกระทบกับทางชาวบ้าน วัด และโรงเรียน โดยจะการสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขโรงงาน  หลังจากนั้นต้องมีการสอบสวนติดตามต่อไป เบื้องต้นต้องแก้ต้นเหตุก่อนคือ ห้องอบที่มีควันออกมาแล้ว และต้องขยายห้องให้ใหญ่ขึ้น มีระบบฉีดสเปรย์น้ำเพื่อลดแรงลมก่อน ซึ่งทางโรงงานยังมีของค้างสต๊อกอยู่ในโกดังประมาณ  15วัน แต่ได้พูดคุยกับเจ้าของโรงสีแล้วว่าหลังจาก 15 วันแล้วให้หยุดดำเนินการเพื่อปรับปรุงแก้ไขก่อน  เพราะว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในปีที่แล้วจากฐานข้อมูลเดิมก็มีปัญหานี้เหมือนกัน  และดำเนินแก้ไขแล้วในระดับหนึ่ง  โดยจะให้ผู้ใหญ่บ้านร่วมกันตรวจสอบการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ชุมชนอยู่ร่วมกันได้

วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ราชบุรีรับฟังความคิดเห็นสร้างรถไฟความเร็วสูง

 เมืองโอ่งรับฟังความคิดเห็นสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อนำเสนอผลสรุป การศึกษาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม แนวเส้นทาง
           เวลา  11.00 น.  วันที่  17  ธันวาคม   2556   นายชาญชัย สุวิสุทธะกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นายนิสิต จันทร์สมวงศ์  ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ร่วมเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่  3 ในโครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-หัวหิน ที่ห้องประชุมโรงแรมเวสเทิร์นแกรนด์  อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี  เพื่อนำเสนอผลสรุป การศึกษาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม แนวเส้นทางตลอดจนรูปแบบและตำแหน่งที่ตั้งสถานี พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากประชาชนทุกภาคส่วน
              นายนิสิต  จันทร์สมวงศ์  ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี   กล่าวว่า   “  เป็นนโยบายของรัฐบาลตามโครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ  เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  เรื่องการขนส่ง   เป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามหาทางแก้ไขว่าทำอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนเดินทางสะดวกขึ้น ลดราคาขนส่งสินค้าต่างๆ  ที่สำคัญเชื่อมโยงการสื่อสารกับประเทศเพื่อนบ้าน  วันนี้มีการรับฟังความคิดเห็นในจังหวัดราชบุรี ซึ่งจะทำทุกจังหวัดที่มีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่คาดว่าจะผ่าน จะต้องมีการไปฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่มีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างไรกับโครงการนี้
              นายชาญชัย สุวิสุทธะกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า  โครงการรถไฟความเร็วสูง ใน 4 เส้นทางที่กระทรวงคมนาคมกำลังดำเนินการอยู่ โดยเส้นทางนี้จะเป็นความเร็วสูง กรุงเทพฯ- หัวหิน ปาดังเบซาร์  จากกรุงเทพจนถึงหัวหิน เริ่มจากสถานีกลางบางซื่อ  สถานี นครปฐม   สถานีราชบุรี  สถานีเพชรบุรี และสถานีหัวหิน  ส่วนที่ราชบุรีการเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงราชบุรีประมาณ 35 นาที   เสร็จเป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้านอุตสาหกรรม ท้องถิ่น การท่องเที่ยว 
                 สำหรับข้อกังวลของชาวราชบุรี เรื่องการระบายน้ำและควบคุมน้ำท่วม เช่น การก่อสร้างสะพาน และตอม่อในแหล่งน้ำ อาจกีดขวางการไหลของน้ำในแม่น้ำแม่กลอง โครงการฯได้กำหนดออกแบบโครงสร้างให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาพื้นที่ระบายน้ำ ได้จัดให้มีการระบายของลำน้ำเพิ่มเติม  เช่น คูระบายน้ำข้างทางรถไฟเพื่อทดแทนส่วนที่ได้รับผลกระทบ และติดตั้งระบบระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วมอย่างเพียงพอตลอดแนวเส้นทางโครงการ
               นายมาโนช  ศักดิ์สมบูรณ์  กำนันตำบลท่าราบ   กล่าวว่า     รถไฟความเร็วสูง  ที่ตัดหลบมาโดนที่ชาวบ้าน จะได้รับผลกระทบจากโครงการตรงนี้ ถ้าถามว่ามีดีผลเสียอย่างไร ผลดีของรถไฟความเร็วสูงคือการเดินทางย่นระยะเวลา ระยะทางในการเดินทาง ส่วนผลเสียประชาชนธรรมดาจะมีสิทธิ์ได้นั่งหรือเปล่า ค่ารถไฟจะมีราคาแพง และคุ้มทุนกับการก่อสร้างหรือไม่ ตอนนี้ชาวบ้านที่โดนเวนคืนจะหาที่อยู่ใหม่จะไม่มีที่อยู่อาศัย  ฟังเสียงชาวบ้าน ไม่มีใครอยากย้ายที่อยู่อาศัยที่เป็นวิถีชีวิต ชาวบ้าน แต่หากเป็นความจำเป็นของประเทศก็จะต้องมีการก่อสร้าง  ประชาชนเดือดร้อนจะคุ้มค่าหรือไม่   ตำบลท่าราบรถไฟผ่านหมู่ที่  7,6, 5, 4 , 3  โดยทุกคนอยากให้โครงการฯหลบพ้นไปจากพื้นที่ของตัวเอง  เพราะการย้ายที่อยู่อาศัยไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
               นางประณีต จวนวารี  อายุ  74 ปี อยู่บ้านเลขที่ 164 หมู่ที่  13 ตำบลเจดีย์หัก  กล่าวว่า มีที่ดินอยู่ในตำบลท่าราบประมาณ  3 ไร่ มีลูกอยู่ 3 คน ได้แบ่งที่ให้คนละ 1ไร่ ไปแล้ว   ได้มีหนังสือแจ้งให้มาร่วมรับฟังความคิดเห็นและทราบว่าพื้นที่ของลูกสาว ได้รับผลกระทบถูกโครงการดังกล่าวผ่านกลางพื้นที่ของลูกพอดี  วันนี้จึงมาประชุมและอยากทราบว่าค่าชดเชยที่โครงการฯจะให้เป็นอย่างไร   และจะทำอย่างไรกับผลกระทบทั้งเรื่องเสียง การสั่นสะเทือน ถ้าโครงการจะชดเชยพื้นที่เฉพาะที่ผ่านตรงกลาง ที่ของลูกอีก 2 แปลงที่อยู่ติดกันซ้ายขวาจะทำอย่างไรกับผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น


กรมการทหารช่างราชบุรีซ้อมแผนตรวจความพร้อม

 กรมการทหารช่างราชบุรีซ้อมแผนตรวจความพร้อมกองร้อยบรรเทาสาธารณภัย กองทัพบกเพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชน               

 เวลา 14.30 น. วันที่  17 ธันวาคม  2556 พลโทปัฐมพงศ์  ประถมภัฏ  เจ้ากรมการทหารช่าง เป็นประธานตรวจสภาพความพร้อมรบ กองร้อยบรรเทาสาธารณภัย กองทัพบก บริเวณสนามบิน ค่ายบุรฉัตร อำเภอเมือง  จังหวัดราชบุรี หลังเกิดภัยธรรมชาติรุนแรงทั่วภูมิภาคของโลก รวมทั้งประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำและยิ่งมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น กองทัพบกได้รับมอบภารกิจในการเข้าแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชน
              กองทัพบกได้อนุมัติจัดตั้งกองร้อยบรรเทาสาธารณภัย จำนวน 5 กองร้อย  โดยจำนวน  1 กองร้อย ฝากการบังคับบัญชากับ กรมการทหารช่าง และอีกจำนวน 4 กองร้อย บรรจุมอบให้กับ กองพลพัฒนาที่ 1, 2 , 3 และ 4 เพื่อให้มีขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจการบรรเทาสาธารณภัย และการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมาการจัดหน่วยที่มีภารกิจดังกล่าวเป็นการเฉพาะ สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านความมั่นคงในปัจจุบัน สามารถรองรับการปฏิบัติตามกรอบความร่วมมือ ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และภัยพิบัติภายใต้การก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558 โดยกรมการทหารช่างเป็นหน่วยรับผิดชอบ การเสนอโครงการจัดตั้ง และระเบียบหลักสูตรการฝึกที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงโครงสร้างการจัดกองร้อยบรรเทาสาธารณภัย ให้มีความเหมาะสม สามารถตอบสนองต่อภัยพิบัติหลากหลายรูปแบบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และยังเป็นการเตรียมพร้อมของกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และขีดความสามารถ ในการปฏิบัติภารกิจบรรเทาสาธารณภัยรูปแบบต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพตอบสนองภารกิจอย่างมีประสิทธิภาพ


ราชบุรีทำแผนบูรณาการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ

 ราชบุรีทำแผนบูรณาการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการเพื่อจัดทำแผนการจัดการทรัพยากรน้ำ ในระดับพื้นที่
 
 ที่ห้องประชุมอาคารราชบุรีเกมส์ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี  นายณรงค์  ครองชนม์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กล่าวเปิดการประชุมเชิงรับฟังความคิดเห็น ปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนบูรณาการจัดการทรัพยากรน้ำ ในระดับพื้นที่ ครั้งที่ 1 (กลุ่มที่ 1 )   โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปราชญ์ท้องถิ่น แบ่งเป็นภาคเช้าจำนวน  3 อำเภอ และภาคบ่าย จำนวน  7 อำเภอ รวม 10 อำเภอ มีกลุ่มเอ็นจีโอ กลุ่มคนรักแม่กลอง กลุ่มต่อต้านโครงการ เพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ ( ฟลัดเวย์ ) งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทเข้าร่วมประชุม
              ผศ.ดร.บันลือ เอมะรุจิ ทีมที่ปรึกษาโครงการจัดทำแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ เปิดเผยว่า การพัฒนาด้านทรัพยากรน้ำของประเทศที่ผ่านมายังไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์หลักของการพัฒนาอย่างยั่งยืน สาเหตุหลักส่วนหนึ่งคือการขาดการยอมรับในแผนงาน ส่วนใหญ่ถูกกำหนดโดยหน่วยงานกลางหรือหน่วยงานรัฐระดับพื้นที่ที่มีลักษณะโครงการแบบ Top Down ส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจ ขาดการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ บางครั้งความขัดแย้งดังกล่าวถูกขยายวงกว้างกระทบถึงการดำเนินงานทั้งในขั้นตอนการก่อสร้าง ขั้นตอนการใช้ประโยชน์จากโครงการหรือขั้นตอนการซ่อมแซมและบำรุงรักษาในเชิงของการมีส่วนร่วม ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 180 วัน ทั้งนี้เพื่อรับทราบปัญหาและความต้องการของโครงการที่สอดคล้องกับพื้นที่และหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง และน้ำท่วมของตำบล อำเภอ รับทราบปัญหาและความต้องการของโครงการที่สอดคล้องกับพื้นที่ และหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว และการทำแผนบูรณการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งของจังหวัดที่เอาปัญหาของพื้นที่เป็นเป้าหมายในการแก้ไขร่วมกับ กระทรวง กรม ที่รับผิดชอบ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัด และใช้เป็นแผนในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งของจังหวัด
             มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอแนวทางการบูรณาการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและประชาชน  มีลักษณะความชัดเจนเรื่องพื้นที่ปัญหา  อาทิ น้ำท่วมและน้ำแล้ง สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในระดับพื้นที่   ใช้เป็นกรอบแผนปฏิบัติการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำระดับจังหวัดที่มาจากการสำรวจสภาพปัญหาและความต้องการจริง ผ่านกระบวนการปรึกษาหารือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกระดับ
                ด้านนายณรงค์  ครองชนม์  รองผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวว่า เป้าหมายที่ชัดเจนเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ที่ผ่านมาการดำเนินงานของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ และลุ่มน้ำ ส่วนใหญ่มาจากหน่วยงานส่วนกลางหรือหน่วยงานรัฐระดับพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นโครงสร้าง Top Down ส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจ ขาดการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่รวมถึงบางครั้งความขัดแย้งดังกล่าวถูกขยายวงกว้าง กระทบถึงการดำเนินงานทั้งในขั้นตอนการก่อสร้าง ขั้นตอนการใช้ประโยชน์จากโครงการหรือ ขั้นตอนการซ่อมแซมและบำรุงรักษาในเชิงการมีส่วนร่วม ซึ่งจะใช้เป็นแนวทางเพื่อจะช่วยแก้ไขปัญหาที่มีความชัดเจนและผ่านกระบวนการสำรวจพื้นที่จริง


จัดโครงการอบรมให้ตำรวจรู้จัดทำบัญชีครัวเรือน


จัดโครงการอบรมให้ความรู้ข้าราชการตำรวจและครอบครัวรู้จัดทำบัญชีครัวเรือนเพื่อ เป็นการปรามทุจริต ตำรวจเราก็จะไม่มีการเรียกรับและรุ้จักความพอเพียง 


                เมื่อเวลา  10.00 น.วันที่ 18  ธันวาคม  2556     พล.ต.ต.สุภธัช คำดี ผบก.ปปป.ได้เป็นประธาน เปิดโครงการอบรมให้ความรู้แก่ข้าราชการตำรวจและครอบครัวในการจัดทำบัญชีครัวเรือน ภายใต้หลักปรัชญาเศรษกิจพอเพียง ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลบางแพ  อ.บางแพ   จ.ราชบุรี    ตามแนวทาง  ลดรายจ่าย   สร้างรายได้   ขยายโอกาส  โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมทั้งครอบครัวจาก สภ.ดำเนินสะดวก  สภ.บางแพ  สภ.หลักห้า  ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี   จำนวน  50  นาย  เข้าร่วมโครงการดังกล่าว     โดยกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อ จะทำได้สามารถวางแผนการใช้จ่ายได้อย่างรอบคอบ  ไม่ใช้จ่ายมากกว่าเงินที่หามาได้  ทราบถึงรายรับรายจ่าย ของตนเองและครอบครัวทั้งในรายละเอียดและภาพรวมจนสามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นจะช่วยให้มีเงินออมมากขึ้น หรือสามารถค้นหาแนวทางหารายได้ให้กับครอบครัว เป็นการลดหนี้สิน สร้างความมั่งคั่งให้กับครอบครัว   เก็บออมไว้เป็นหลักประกันมั่นคงของอนาคตภายหน้า โดยมี นายอารีย์  คล่องขยัน  ผุ้บริหารทีมฝ่ายกลยุทธการตลาด  และผลิตภัณฑ์ ธกส.เป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับการผลิต  น้ำยาสระผม  และน้ำยาล้างจาน  เพื่อนำไปผลิตใช้เองหรือนำไปจำหน่ายเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง

        ทางด้าน  พล.ต.ต.สุภธัช คำดี ผบก.ปปป.  กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการของผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ได้มอบหมายให้กับทางกองบังคับปรามปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ดำเนินการโครงการนี้ เพื่อจะนำสิ่งที่ดีๆมาให้กับข้าราชการตำรวจและครอบครัวเกี่ยวกับ เรื่องหลักสำคัญตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวง เพื่อจะได้จัดทำรู้จักการจัดทำบัญชีครัวเรือน   ต้องการให้ข้าราชการตำรวจรู้จักคำว่าพอเพียง ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สุดท้ายหากดำเนินการสิ่งเหล่านี้ได้ตามหลักการพอเพียงก็เป็นการปรามทุจริต ตำรวจเราก็จะไม่มีการเรียกรับและรุ้จักความพอเพียงแล้วก็อยู่ได้ด้วยตนเอง โดยจะจัดโครงการนี้ไปเรื่อยๆโดยเน้นเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเขตสอบสวนกลาง  ตำรวจในพื้นที่ ตำรวจภูธร ตำรวจนครบาล  ทั้งหมดทั่วประเทศ  และแม่บ้านเข้ามาร่วม ตามความเหมาะสม โดยจะไปทำการอบรมทั่วประเทศ