บทความที่ได้รับความนิยม

วันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2564

ราชบุรี เจอพิษโควิดหันเลี้ยงปลาสลิดในบ่อปูนซีเมนต์สร้างกำไรงาม

 

 เสี่ยโรงหล่อพระ เจอพิษเศรษฐกิจโควิดเล่นงาน ตัดใจค้นหาอาชีพเสริมเลี้ยงปลาสลิดในบ่อปูนซีเมนต์แบบทฤษฎีใหม่ เห็นกำไรถึงกับอึ้ง เตรียมเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ช่วยผู้มีรายได้น้อยช่วงโควิด 

วันที่ 20 เม.ย.64 ผู้สื่อข่าวได้รายงานว่า นายณัฐกิตติ์ จิราธันย์ธนาดุล อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 356 หมู่ 5 ต.เจดีย์หัก อ.เมือง จ.ราชบุรี เจ้าของโรงหล่อพระ ที่หาอาชีพเสริมในช่วงโควิด-19 หลังประสบปัญหาพิษเศรษฐกิจในช่วงโควิด ที่กำลังระบาดอย่างหนัก จนมีผลให้โรงหล่อพระไม่มีงาน หันมาเลี้ยงปลาสลิดในบ่อปูนซีเมนต์แบบทฤษฎีใหม่ ภายในบริเวณบ้าน โดยศึกษาและทดลองเลี้ยงปลาสลิดอยู่ในบ่อปูนซีเมนต์จำนวน 2 บ่อ หลัง 10 เดือนผ่านไป สามารถจำหน่ายปลาสลิดหักลบค่าใช้จ่ายแล้ว กำไรกว่า 30,000 บาทต่อหนึ่งบ่อ 

นายณัฐกิตติ์ จิราธันย์ธนาดุล เจ้าของโรงหล่อพระ กล่าวว่า การเลี้ยงปลาสลิดในบ่อปูนซีเมนต์ มีขั้นตอนการเลี้ยง โดยจะต้องเตรียมบ่อปูนซีเมนต์ขนาดกว้าง 2.5 เมตร ยาว 4.5 เมตร และลึกไม่ต่ำกว่า 1 เมตร พร้อมนำดินหน้านา ซึ่งจะมีแร่ธาตุสูงมาปูพื้น ก่อนวางด้วย ฟาง ขี้วัว มาผสมกันแล้วพักที่บ่อไว้ 1 อาทิตย์ จากนั้นใส่น้ำลงไปครึ่งบ่อ แล้วนำพืชน้ำมาใส่ เช่น กอกก ดอกจอก แหน เพื่อปรับสภาพน้ำประปา 5 วัน ต่อจากนั้นเติมน้ำให้เกือบเต็มบ่อทิ้งไว้อีก 5 วัน จึงสามารถลงพันธุ์ปลาสลิดได้ ซึ่งเป็นพันธุ์ปลาที่ซื้อมาจากตลาดปลาทั่วไป จะเป็นไซร์ 1-2 ซม.ขึ้นไป โดยหนึ่งบ่อจะสามารถเลี้ยงปลาสลิดได้ 1,500 - 2,000 ตัว 

วิธีการดูแลรักษาให้สังเกตุการกินอาหารของปลาด้วยอย่าเพิ่งให้อาหารมากค่อยๆปรับจากน้อยไปมาก ซึ่งที่บ่อเราช่วง 2 - 3 เดือน แรกจะให้แค่วันละครั้ง แต่ช่วง 4 เดือนขึ้นจะให้อาหารเช้า - เย็น อาหารของปลาสลิดจะมีดอกจอก แหน ผักตบชวา มีให้อาหารเม็ดเสริมบ้าง เรื่องของน้ำปลาสลิดจะไม่ค่อยชอบน้ำใสจึงไม่จำเป็นต้องถ่ายน้ำ ยกเว้นกรณีน้ำเสียหรือมีกลิ่นจริงๆ จึงจะถ่ายน้ำใหม่ แต่ถ้าในช่วง 6 เดือนถ้าอยากให้ปลาวางไข่อาจจะถ่ายน้ำออกครึ่งบ่อแล้วเติมน้ำใหม่ลงไป 

นายณัฐกิตติ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ควรระวัง แม้ปลาสลิดจะเลี้ยงง่าย จะไม่ค่อยมีโรคอะไร แต่ผู้เลี้ยงต้องระวังคือนกจะชอบมากินปลา ในกรณีที่มีหลายบ่ออาจจะต้องหาตาข่ายมากางป้องกันไว้ ส่วนอัตราความสูญเสียของปลาสลิดในการเลี้ยงในบ่อปูนซีเมนต์ แทบจะอยู่ที่ 0 % เพราะปลาสลิดเลี้ยงง่าย ระยะเวลาที่สามารถนำออกขาย จะเป็นในช่วงเวลาอายุ 8-10 เดือน จะมีขนาดที่เหมาะแก่การขาย ราคาขายปลาสดจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 80-90 บาท แต่เมื่อนำปลาสลิดมาแปรรูปแดดเดียว อยู่ที่กิโลกรัมละ 220 -250 บาท ซึ่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วจะตกอยู่ที่ 30,000 บาท ต่อหนึ่งบ่อ                    

             นายณัฐกิตติ์ กล่าวต่อ ข้อแตกต่างระหว่างการเลี้ยงปลาสลิดในบ่อปูนซีเมนต์ กับบ่อดินธรรมชาติ การเลี้ยงบ่อปูนซีเมนต์เราสามารถเลี้ยงในพื้นที่บริเวณบ้านได้ ใช้เวลาดูแลน้อย และสามารถควบคุมการให้อาหาร การจับ การขายได้ ด้วยตนเอง ซึ่งจะลดต้นทุนในการผลิตอีกด้วย ถ้าเลี้ยงแบบบ่อธรรมชาติจะไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย อนาคตอาจจะขยายพันธุ์ปลาสลิดและเพาะพันธุ์ปลาสลิด เพื่อขายพันธุ์ปลา และแปรรูปอาหารจากปลาสลิด เช่น น้ำพริก ปลาแดดเดียว ฯลฯ ซึ่งเตรียมจะเปิดให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในช่วงโควิด ให้เข้ามาศึกษา เพื่อนำไปต่อยอดช่วยเหลือตัวเอง ซึ่งหากใครสนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่ เพจเฟสบุ๊ค บ้านฟาร์มปลาสลิดบ่อปูนซีเมนต์ หรือโทรสอบถาม 089-6142424 

ขณะที่ พ.อ.ไพรวัลย์ เอี่ยมคะนา พร้อม นายอุดม ไทยเจียมอารีย์ นายก อบต.หนองกลางนา กล่าวว่า ตนอยากจะส่งเสริมและสนับสนุน การเลี้ยงปลาสลิดให้เป็นวิสาหกิจชุมชน หลังได้เข้ามาศึกษาดูการเลี้ยงของ นายณัฐกิตติ์ ซึ่งตนมองว่าการเลี้ยงปลาสลิดบ่อปูนซีเมนต์ แบบทฤษฏีใหม่ เหมาะสมกับยุคนี้เป็นอย่างมาก คนที่มีพื้นที่น้อยก็สามารถสร้างรายได้จากตรงนี้ได้ การเลี้ยงดูแลไม่ได้ยากอะไรมากและลงทุนไม่เยอะ ตนจึงอยากสนับสนุนให้ตรงนี้เป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับคนที่อยากมีรายได้เสริมด้วย