บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2553

พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

ชาวบ้านร่วมกันสำรวจถ้ำแห่งใหม่เตรียมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว


 เวลา 10.00 น.วันที่ 21 สิงหาคม 2553 นายณรงค์ พลละเอียด รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี และพระอธิการสายันต์ สุทธฺญาโณ เจ้าอาวาสวัดหนองบัวค่ายได้ร่วมกับชาวบ้านหนองบัวค่าย หมู่ 2 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เข้าทำพิธีบวชป่าที่บริเวณภูเขาในพื้นที่ หมู่ 2 บ้านหนองบัวค่ายหลังมีการสำรวจพบว่ามีถ้ำอยู่ถึง 2 ถ้ำอยู่ภายในและมีหินงอก หินย้อยสวยงามตามธรรมชาติ โดยมีการตั้งชื่อถ้ำดังกล่าวว่า ถ้ำทะลุ และถ้ำแก้วมรกต เพื่อไม่ให้สถานที่แห่งนี้ถูกทำลายโดยการระเบิดหินของโรงโม่ซึ่วได้สัมปทานระเบิดหินที่ภูเขา แห่งนี้ หลังจากทำพิธีบวชป่าแล้วก้ได้ร่วมกันเดินสำรวจถ้ำดังกล่าว ซึ่งยังมีความงามตามธรรมชาติ แต่ภายในนั้นมืดมาก และทางขึ้นเขานั้นค่อนข้างชัน ซึ่งอบต.รางบัวและชาวบ้านในพื้นที่นั้นได้เตรียมทำหนังสือขอพื้นที่ภูเขาดังกล่าวจากบริษัทที่ได้รับสัมปทาน จากนั้นก็จะได้มาทำการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่ชอบการปีนป่ายภูเขาได้ลองมาสัมผัส และได้ชมความงดงามของหินงอกหินย้อยที่อยู่ภายในถ้ำ โดยจะต้องทำการติดไฟแสงสว่างเพื่อให้มองเห็นด้วย

ผักตบชวาเต็มคลองอวดนักท่องเที่ยว

ผักตบชวาเต็มคลองดำเนินสะดวกอวดนักท่องเที่ยว


คลองดำเนินสะดวก เป็นเส้นทางสู่ตลาดน้ำดำเนินสะดวก เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากของราชบุรี เปิดตัวสู่สายตาชาวโลกในฐานะแหล่งท่องเที่ยว มากว่า 30 ปี ในภาพของตลาดลอยน้ำที่มีวิถีชีวิตของคนสองฝั่งคลองมีเรือพายนำสินค้าจากสวนบรรทุกใส่เรือออกสู่ตลาด จะเป็นสินค่าที่จำเป็น ต่อการครองชีพ พ่อค้าแม่ค้าแบบชาวสวน ดูเป็นธรรมชาติใส่หมวกงอบใบลาน พายเรือขายแลก เปลี่ยนสินค้า ในยามที่เส้นทางคมนาคมทางน้ำเป็นหัวใจหลัก ปัจจุบันได้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่าง ประเทศเข้ามา เที่ยวชมวิถีชีวิต และการค้าขายในตลาดน้ำแห่งแห่งนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งคลองดำเนินสะดวกแห่งนี้ก็ขุดขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงเห็นว่าการคมนาคม ในท้องถิ่นนี้ไม่มีถนนที่เชื่อมกับอำเภออื่นๆ ส่วนมากใช้เรือเป็นพาหนะ โดยคลองดำเนินสะดวกจะ เชื่อมแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง เข้าไว้ด้วยกัน

ในปัจจุบันคลองดำเนินสะดวกกำลังประสบกับปัญหามีผักตบชวาและสิ่งปฎิกูลจำนวนมากไหลมาอัดแน่นอยู่ที่บริเวณสะพานข้ามคลองดำเนินสะดวก เนื่องจากเทศบาลตำบลดำเนินสะดวก ได้ทำการก่อสร้างปรับปรุงสะพานดังกล่าว โดยเริ่มสัญญา ในวันที่ 27 ตุลาคม 2552 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553 ค่าก่อสร้าง 1,113,000 บาท ด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2551 เป็นเงิน 1,600,000 บาท ซึ่งเกินสัญญามากว่า 5 เดือนแล้ว แต่สะพานก็ยังไม่เสร็จ จึงเป็นจุดสร้างปัญหามาโดยตลอด โดยในเวลากลางคืนในช่วงเวลาน้ำขึ้นจะมีผักตบชวาและสิ่งปฎิกูลต่างๆลอยไหลผ่านมาติดที่จุดก่อสร้างสะพานอัดแน่นทำให้เรือเล็กไม่สามารถสัญจรไปมาได้ และในเวลาเช้าน้ำลดลงผักตบชวาและสิ่งปฎิกูลไหลกระจายไปทั่วคลองดำเนินสะดวก โดยเฉพาะที่ตลาดน้ำดำเนินสะดวกและตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก เป็นเวลาที่นักท่องเที่ยวทัวร์ต่างๆกำลังเข้ามาเที่ยวยังตลาดน้ำ ทำให้นักท่องเที่ยวพบเห็นกับความสกปรกในคลองอยู่เป็นประจำซึ่งเป็นผลกระทบกับการท่องเที่ยวในตลาดน้ำแห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คงจะเห็นสิ่งเหล่านี้มาตลอดแต่ไม่ได้คิดจะแก้ไข กลับปล่อยให้เป็นอยู่อย่างนี้ จนชาวบ้านและนักท่องเที่ยวหลายคนทนไม่ไหวต้องมาร้องเรียนกับผู้สื่อข่าวให้ช่วยกระตุ้นหน่วยงานที่รับผิดชอบให้มาดำนเนินการให้น้ำในคลองดำเนินสะดวกได้ใสสะอาด เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รู้สึกประทับเวลามาเที่ยวที่ตลาดน้ำ

รับคนชราไร้ญาติมาดูแล




ในวันนี้( 21 ส.ค.53) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า มีสองผัวเมียผู้ใจบุญนำคนป่วยและชราภาพที่ไม่มีญาติมาดูแลตามโรงพยาบาลนำมาดูแลเองที่บ้านศิริวัฒนธรรม เลขที่ 66 หมู่ 6 ต.ดอนกรวย อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ขณะนี้มีผู้ป่วยและคนชราอยู่ในความดูแล เกือบ 20 คน และขณะนี้สถานที่นี้กำลังขาดแคลนอุปกรณ์หลายอย่าง ในการดูแล และวอนผู้ใจบุญช่วยเหลือด่วน


ผู้สื่อข่าวจึงเดินทางไปบ้านดังกล่าว พบว่าสภาพบ้านเป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูง มีเตียงนอนเรียงรายเกือบ 20 เตียง แต่ละเตียงจะมีคนชรานอนอยู่เต็มทุกเตียง นอกจากนี้ยังได้พบกับนางสาวนารี นีสันเทียะ อายุ 38 ปี และนายกล้า ศิริวัฒนธรรม อายุ 30 ปี สองผัวเมียที่เป็นเจ้าของบ้านหลังดังกล่าว กำลังทำการดูแลและพยาบาลคนชราที่นอนอยู่บนเตียงนอน โดยนายกล้า ได้เล่าให้ฟังถึงความเป็นที่นำคนชราและคนป่วยมาดูแลว่า ในอดีตนั้นนางสาวนารีซึ่งเป็นภรรยามีอาชีพรับจ้างดูแลคนป่วยที่โรงพยาบาลดำเนินสะดวก อ.ดำเนินสะดวก โดยคิดค่าเฝ้าดูแลวันละ 300 บาท ทำมาเป็นเวลา 4 ปี ส่วนตัวเองนั้นประกอบอาชีพทำไก่สดส่งขายตามตลาด ส่วนผู้ป่วยที่ภรรยาไปดูแลแต่ละรายส่วนใหญ่เป็นคนชราและช่วยตัวเองไม่ได้ บางคนเป็นแผลเรื้อรัง และเมื่อดูแลไปนานวันญาติผู้ป่วยก็หายไปและไม่มาเยี่ยมผู้ป่วยเลย เมื่อไม่ได้รับค่าจ้างและคนป่วยเองก็ไม่มีใครดูแลด้วยความสงสารจึงได้มาปรึกษาว่าจะนำมาดูแลเองที่บ้าน โดยได้ประสานกับทางโรงพยาบาลดำเนินสะดวก เนื่องจากเกรงว่าจะมีญาติมาติดต่อก็จะได้ติดตามไปรับผู้ป่วยได้ที่บ้าน นอกจากนี้ยังเป็นการลดภาระของโรงพยาบาลด้วย เริ่มแรกก็ลงทุนซื้อเตียงนอนให้เพียงแค่ไม่กี่คนต่อมามีคนทราบข่าวว่า มีสถานที่รับดูแลผู้ป่วยที่เป็นคนชรา จึงมีคนนำมาให้ดูแลเพิ่มอีกบางรายที่นำมาให้ช่วยดูแล เมื่อมีอาการดีขึ้นก็จะมารับกลับไป ซึ่งจะหมุนเวียนมาอย่างนี้ แต่ก็จะมีบางรายที่ในช่วงแรกๆญาติก็จะมาเยี่ยมเยียนและส่งข้าวของและเงินทองให้บ้างต่อมาก็หายเงียบไป แม้ว่าจะมีผู้เสียชีวิตไปบ้างแล้วแต่ก็ไม่มีญาติมาติดต่อ จนถึงตอนนี้เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่ทำหน้าที่ดูแลบุคคลเหล่านี้มา ส่วนตนเองก็ต้องเลิกอาชีพทำไก่สดส่งขายและมาช่วยภรรยาดูแลคนชราเหล่านี้ ตอนนี้มีสมาชิกที่เป็นคนชราเพิ่มเกือบ 20 คนแล้ว แม้ว่าจะมีญาติของบุคคลเหล่านี้ที่คอยส่งเสียให้บ้างเหมือนกัน แต่ก็ไม่เพียงพอต่อค่าอาหาร ค่าอุปกรณ์ในการทำแผลเนื่องจากหลายคนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ต้องนอนซมอยู่บนเตียง จึงเกิดแผลกดทับ จึงต้องคอยทำความสะอาดแผลให้ตลอดเพื่อไม่ให้ลามไปที่อื่น และยังมีค่าน้ำค่าไฟ ทำให้ เงินทองที่สะสมเอาไว้ก็หมดลง จะกลับไปทำอาชีพเดิมก็ไม่ได้ เพราะเราทิ้งเขาไม่ได้ เราต้องดูแลอย่างไกล้ชิดและสังเกตอาการเกือบทุกชั่วโมง ต้องวัดความดัน ต้องให้อาหาร น้ำดื่ม ดูเลทำความสะอาดเมื่อผู้ป่วยขับถ่าย หรือเมื่อมีอาการผิดปกติต้องเรียกหมอที่อนามัยใกล้บ้านมาดูแล หากบางรายอาการไม่ดีต้องรีบส่งโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังต้องทำหน้าที่เป็นลูกหลานให้กับบุคคลเหล่านี้โดยการพูดคุย เล่าเรื่องต่างๆที่เป็นประโยชน์รวมทั้งใช้ธรรมะมาช่วยในการดูแลโดยการเปิดเทปเพลงธรรมะบ้าง เทปพระเทศน์บ้าง จึงทำให้ในทุกวันไม่เคยได้ว่างเว้นเลยเพราะต้องหมุนเวียนทุกเตียงเพื่อให้ครบทุกคน ซึ่งการดูแลนั้นก็ทำเท่าที่ตนกับภรรยาจะทำได้ และตอนนี้ก็มีอาสาสมัครมาช่วยดูแลอีกหนึ่งคน ซึ่งบางทีก็ให้ค่าตอบแทนบ้างแล้วแต่ว่าจะมีแค่ไหน


นายกล้ายังกล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่ตนกับภรรยาทำนั้นไม่ได้ต้องการเรียกร้องอะไรกับญาติผู้ป่วยที่นำมาให้ดูแล แต่เป็นการช่วยเหลือสังคมในการดูแลผู้ป่วยด้อยโอกาสและไม่มีญาติดูแลซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนชราที่ลูกหลานไม่สนใจปล่อยทิ้งดดยไม่ได้คำนึงความรู้สึกของคนเหล่านี้ อีกทั้งช่วยเหลือผู้ป่วยที่เจ็บป่วยระยะสุดท้ายของชีวิตที่มีความทุกข์ทั้งกายและใจ เพื่อให้ผู้ป่วยที่ชรามีความรู้สึกมั่นใจ อบอุ่นใจว่าไม่ถูกสังคมไทยทอดทิ้ง


และอยากเป็นคนต้นแบบ ที่มีแบบอย่างให้สังคมรับทราบและปฏิบัติตาม โดยเน้นชีวิตที่มีคุณค่า แต่เนื่องจากปัจจุบันหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล หรือ อบต.ได้ติดต่อที่จะนำคนชรามาให้ดูแลมากยิ่งขึ้น ส่วนทุนทรัพย์ที่ได้จากการบริจาคจากหน่วยงานต่างๆ ก็ยังไม่พอเพียงกับค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับการดูแลคนชราที่ป่วยเป็นช่วงสุดท้ายของชีวิตให้ดีมีคุณภาพ ถึงแม้จะเหนื่อยยากลำบากเพียงใด ตนและครอบครอบครัวขออุทิศตนทำงานนี้เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคมต่อไป


หากท่านใดจะไห้ความช่วยเหลือ หรือจะบริจาค ชื่อบัญชี นายกล้า ศิริวัฒนธรรม นางบุษยา แซ่อุ่น เลขบัญชี 707-0-13698-6 ธนาคารกรุงไทยสาขาดำเนินสะดวก


ติดต่อสอบถาม นายกล้า โทร. 083-5590526

วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ที่ปรึกษาโครงการพระราชดำรึตรวจป่าสวนผึ้ง

ที่ปรึกษาโครงการพระราชดำริ ตรวจพื้นที่ป่าที่ถูกนายทุนรุกซ้ำซากในสวนผึ้ง



  เวลา 13.00 น.วันที่20 สิงหาคม 2553 พล.อ.นพดล วรรธโนทัย ที่ปรึกษาโครงการพระราชดำริ และที่ปรึกษากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน พร้อมด้วยผู้แทนกองทัพบก หน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ กองกำลังสุรสีห์ และกรมการทหารช่างได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ป่าซึ่งเดิมนั้นเป็นป่าสมบูรณ์ลุ่มน้ำชั้น 1 A ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี ที่บริเวณบ้านถ้ำหิน หมู่ 5 ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ราชพัสดุ ที่มีกรมการทหารช่าง จ.ราชบุรี เป็นผู้ขอใช้พื้นที่ โดยพบว่าในบริเวณดังกล่าวนั้นมีการตัดถนนเส้นใหม่โดยทำการขุดดินที่บริเวณภูเขาด้านข้างมาถมทำถนน เพื่อจะได้เข้าไปถึงพื้นที่ป่ากว่า 2,000ไร่ และพื้นที่ดังกล่าวนั้นก็เชื่อมต่อกับพื้นที่ป่าที่เคยถูกจับกุมมาแล้วกว่า 10,000 ไร่ และเริ่มมีการปักเสาไฟฟ้าเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งก็เป็นกลุ่มนายทุนเดิมที่เข้าไปดำเนินการและยังไม่หยุดการกระทำ โดยได้ทำการบุกรุกแผ้วถางซ้ำซากไปแล้วกว่า 80% โดยจากการตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวพบว่ามีการยื่นขอเช่าพื้นที่จากทางกรมธนารักษ์ แต่ถูกคัดค้านจากทางกรมการทหารช่างเนื่องจากพื้นที่เดิมนั้นยังเป็นป่าสมบูรณ์ จึงทำให้ยังไม่ได้รับการเช่าจากกรมธนารักษ์ ส่วนนายทุนที่เข้าไปบุกรุกนั้นพบว่าเป็นญาติของนักการเมืองระดับชาติ ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่นั้นมีอุปสรรค นอกจากนี้ยังพบว่าในพื้นที่นั้นมีการนำแรงงานต่างด้าวจากศูนย์อพยพบ้านถ้ำหินออกมาทำงานในพื้นที่ดังกล่าว โดยมีการออกบัตรคนต่างด้าวที่มีปลัดอำเภอสวนผึ้งเป็นผู้เซ็นต์อนุญาตให้เมื่อปี พ.ศ.2552 ที่ผ่านมา
ทางด้าน พล.อ.นพดล ได้กล่าวภายหลังเข้าตรวจสอบพื้นที่แล้วว่าเป็นที่น่าเศร้าใจที่พื้นที่ป่าถูกทำลายไปมาก และการมาดูในครั้งนี้ก็เป็นการมาเยี่ยมเจ้าหน้าที่ทำงาน ส่วนการที่มีนายทุนใหญ่เข้ามาบุกรุกแผ้วถางป่านั้น ขณะนี้เจ้าหน้าที่ก็ได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งเราก็ก็ให้การสนับสนุนอยู่ แต่คงจะต้องใช้เวลา ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินินาถ ทรงห่วงผืนป่าและไม่เคยท้อที่จะพูดถึงเรื่องป่าเพราะท่านทรงรักษ์ป่า เพราะป่าเป็นที่มาของน้ำ ถ้าไม่มีป่าก็ไม่มีน้ำ

วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2553

หลอดไฟนิออนแลกใข่

อบต.ลาดบัวขาวทำเก๋ให้ชาวบ้านนำหลอดไฟมาแลกไข่ก่อนนำไปทำลาย


นายทวีศักดิ์ พรมสวัสดิ์ อายุ 56 ปี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลาดบัวขาว อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ปิ้งไอเดียคิดทำเครื่องกำจัดหลอดไฟฟ้า โดยให้ชาวบ้านนำหลอดไฟฟ้าที่ใช้การไม่ได้นำมาแลกไข่ไก่เบอร์ 0 ที่ทำการอบต.เพื่อที่จะนำหลอดไฟฟ้าที่ใช้งานไม่ได้ไปเข้าเครื่องทำลายที่ทดลองทำขึ้นมา

โดยนายทวีศักดิ์ กล่าวว่า เห็นหลอดไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งานแล้วถูกนำไปทิ้งตามถังขยะและแม่น้ำคูคลอง ซึ่งถือเป็นขยะอันตรายเกรงว่าจะเป็นอันตรายเพราะหลอดไฟฟ้านั้นมีสารปรอทเคลือบอยู่ จึงได้คิดที่จะทำเครื่องกำจัดหลอดไฟขึ้นมา โดยลองผิดลองถูกมาจนสามารถทำเครื่องกำจัดหลอดไฟได้ ใช้งบประมาณ 7,000 บาทต่อเครื่อง และเครื่องบดทำลายหลอดไฟฟ้านี้ก้ได้ผ่านการประชาคมของหมุ่บ้านมาแล้วเพื่อนำมาใช้ในพื้นที่ อบต.ลาดบัวและอาจจะขยายไปพื้นที่ในตำบลข้างเคียง โดยใช้วิธีการบดให้แหลกจากนั้นนำสารโซเดียมซัลไฟส์มาผสมกับน้ำแล้วฉีดลงไปในเครื่องเพื่อช่วยกำจัดควันซึ่งจะมีสารปรอทที่เคลือบหลอดไฟฟ้าปะปนออกมาอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ส่วนกากของหลอดไฟฟ้าที่ถูกบดแล้วสามารถนำไปผสมกับปูนซีเมนต์ที่ใช้เทพื้น หรือนำไปฝังกลบก็ได้ ซึ่งจะเป็นการลดปริมาณขยะอันตราย เป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่วนผู้ที่นำหลอดไฟมาให้กำจัดก็จะได้รับไข่ไก่กลับไปเป็นการจูงใจให้ประชาชนไม่นำหลอดไฟฟ้าไปทิ้งทั่วไป ซึ่งต่อไปนั้นอาจจะเป็นอันตรายต่อชุมชนและสิ่วแวดล้อมได้ และในอนาคตอาจจะยื่นขอจดสิทธิบัตรเครื่องบดทำลายหลอดไฟฟ้าด้วย

วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ค้นบ้านดาบตำรวจ


ค้นบ้านดาบตำรวจ จับลูกชายพร้อมแฟนสาว ได้ของกลางมูลค่ากว่าล้าน



เมื่อเวลา 07.00 น.วันที่ 17 ส.ค.53 พ.ต.อ.สมเดช ฐิตวัฒนะสกุล ผกก.สภ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี พร้อมด้วย พ.ต.ท.ธารา ศรีพรมคำ รอง ผกก.ป พ.ต.ท.ธนกร อังกูรวิโรจน์ สวป.หน.ชุดปราบปรามยาเสพติด สภ.บ้านโป่ง และกำลังจำนวนหนึ่ง นำหมายค้นศาลจังหวัดราชบุรี เลขที่ ค.282 / 2553 เข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 27 (บ้านดงมะม่ง) หมู่ 12 ต.นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง เป็นบ้านดังกล่าวเป็นของ ด.ต.สมพจน์ เสลานนท์ เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำกองพิสูจน์หลักฐานกองกำกับการสืบสวนสอบสวนภาค 7 (กก.สส.ภ.7) เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบทราบว่าบ้านหลังดังกล่าว ลักลอบจำหน่ายยาเสพติด ให้กับกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มหนุ่มสาวไฮโซมานาน ระหว่างเข้าทำการตรวจค้น ด.ต.สมพจน์ ไม่อยู่บ้าน
โดยบ้านดังกล่าวเป็นบ้านชั้นเดียวหลังขนาดใหญ่รอบๆปลูกต้นไม้เป็นรั้ว กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ทำการปิดล้อมและเข้าทำการตรวจค้นภายในห้องนอนของ นายพิสูจน์ เสลานนท์ อายุ 23 ปี เป็นลูกชายของ ด.ต.สมพจน์ ซึ่งกำลังอยู่กับแฟนสาว คือ น.ส.ปรียานุช พลายงาม อายุ 20 ปี พบยาบ้าจำนวน 4,078 เม็ด ยาไอซ์ 220 กรับ และยาอี 240 เม็ด มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท ซุกซ่อนอยู่ใน ตู้วางทีวี นอกจากนั้นแล้วยังพบ อาวุธปืนลูกซองยาวแบบ 5 นัด 1 กระบอก อาวุธปืนขนาด 9 มม. 1 กระบอก พร้อมกระสุน 46 นัด สมุดฝากเงินธนาคารจำนวน 5 เล่ม เป็นชื่อของ น.ส.ปรียานุชฯ โดยมีเงินหนุนเวียน หลายแสนบาท จึงได้ควบคุมตัวทั้ง 2 เอาไว้
จากการสอบสวน นายพิสูจน์ฯ ให้การรับสารภาพ ว่า ได้ลักลอบค้ายาบ้า และยาไอซ์ มานานแล้ว โดยส่งจำหน่ายให้กับกลุ่มวัยรุ่นและในกลุ่มไฮโซ ในพื้นที่ อ.บ้านโป่ง อ.โพธาราม และใกล้เคียง ส่วนยาของกลางที่พบ ได้ไปรับมาจาก นายพัลลภ หรือมืด เทียนทองดี ซึ่งขณะนี้ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวไปก่อนหน้าแล้ว นายพิสูจน์ฯยังรับสารภาพต่อไปว่า ยาทั้งหมดจะเคดิสเอามาก่อน หลังจากขายได้เงิน ก็จะใช้วิธีโดยให้ น.ส.ปรียานุช แฟนสาว โอนเงินให้กับ นายพัลลภ หรือมืด ทางธนาคาร จนกระทั่งมาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงควบคุมตัวทั้ง 2 พร้อมของกลาง ไว้ดำเนินคดีต่อไป.

แก้ปัญหาน้ำเน่าซ้ำซากในคลองรางกระดี่

แก้ปัญหาน้ำเน่าซ้ำซากในคลองรางกระดี่

หลังจากที่มีชาวบ้านในต.บางป่า ต.พงสวาย ต.พิกุลทอง และต.โคกหม้อ อ.เมือง จ.ราชบุรี ได้ร้องเรียนเรื่องน้ำเน่าเสียในคลองรางกระดี่หมู่ 3 ต.บางป่า ซึ่งเป็นคลองที่เชื่อมต่อกับหลายตำบลก่อนไหลออกสู่แม่น้ำแม่กลอง พบว่าน้ำในคลองนั้นมีสีดำคล้ำ ที่บริเวณริมตลิ่งมีคราบสีดำติดอยู่ และมีกลิ่นเหม็น ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำในคลองไปอุปโภค บริโภค รวมทั้งนำไปรดพืชผักก็ทำให้แห้งตาย ต้นแคระแกน ส่วนข้าวที่ปลูกไว้ก็ยืนต้นตายเพราะสูบน้ำขึ้นไปรด ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนถึง 4 ตำบล มากกว่า 20 หมู่บ้าน และปัญหาดังกล่าวก็เกิดมากว่า 10 ปี แล้วทุกวันนี้ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข
                     ทำให้ในวันนี้(16ส.ค.53) เวลา 10.00 น.นายสุเทพ โกมลภมร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พร้อมด้วย นายกิตติ ทรัพย์วิสุทธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นายณรงค์ พลละเอียด รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้ลงดูพื้นที่บริเวณคลองรางกระดี่ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาโดยนำน้ำจากปลายท่อทั้งจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ชาวบ้านอ้างว่าเป็นต้นเหตุของน้ำเน่าในเสียในคลอง รวมทั้งน้ำจากปลายท่อของฟาร์มปศุสัตว์ที่อยู่ริมคลองดังกล่าวไปทำการตรวจวัดค่า POD ซึ่งที่ผ่านมานั้นทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เข้าไปนำน้ำไปตรวจวัดค่าแล้ว และพบว่าค่าความเค็มในน้ำสูงกว่ามาตรฐาน ซึ่งถ้านำไปรดพืชผักก็จะทำให้เหี่ยว เฉาและยืนต้นตายในที่สุด แต่ยังไม่ได้ระบุว่าค่าความเค็มในน้ำนั้นมาจากแหล่งใดมากที่สุด ซึ่งในเบื้องต้นนั้นได้ประสานไปยังแหล่งต้นเหตุของน้ำเสีย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการทำข้อตกลงกันไว้แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควรเพราะยังมีการต่อรองที่จะทำการพิสูจน์ตนเองว่าไม่ได้เป็นต้นเหตุที่ทำให้น้ำเสีย แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้เทศบาลหลักเมืองซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของแหล่งต้นเหตุน้ำเสียกำลังดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอยู่ซึ่งเชื่อว่าน่าจะสามารถแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนานได้ พร้อมกับดำเนินการฟ้องร้องทางอาญาและแพ่งต่อไปด้วย

ชาวบ่อกระดานร้องผู้ว่าฯ

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 10 ส.ค.53 ชาวบ้านหมู่ที่ 1 ต.บ่อกระดาน อ.ปากท่อ จ.ราชบุรีกว่า 70 คน ได้เดินทางมาชุมนุมที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด นำโดย นายวรวุฒิ เตชะสกุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อกระดาน ได้ทำหนังสือถึงนายสุเทพ โกมลภมร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เพื่อของบประมาณสนับสนุนในการสร้างประปาในหมู่บ้าน ซึ่งทางอบต.บ่อกระดานได้จัดประชุมประชาคมหมู่บ้านเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยที่ประชุมชาวบ้านได้มีการยกมือในมติเรื่องการสร้างระบบประปาหมู่บ้าน 2 ระบบ คือ ปรับปรุงประปาหมู่บ้านเดิมให้มีคุณภาพ และ ทำประปาภูมิภาคโดยให้ต่อท่อมาจากหมู่ 3 ตำบลบ่อกระดาน แต่ชาวบ้านต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวน 4,135 บาท ทางการประปาส่วนภูมิภาคลดให้จำนวน 15 เปอร์เซ็นต์ คงเหลือ 3,595 บาท ต่อ 1 หลังคาเรือน ซึ่งชาวบ้านบอกว่าเป็นเงินจำนวนมาก ชาวบ้านเองก็ไม่มีเงินที่จะมาช่วยค่าใช้จ่ายตรงนี้ จึงอยากให้ทางอบต.บ่อกระดานช่วยหางบประมาณมาช่วยดำเนินการให้ และทางอบต.บ่อกระดานเองก็รับปากว่าจะช่วยส่วนหนึ่ง จึงผ่านมติที่ประชุมให้สร้างระบบประปา 2 ระบบ ทางองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อกระดานจึงได้ทำหนังสือประสานของบประมาณมายังจังหวัดเพื่อนำไปพัฒนาระบบการกรองน้ำ ซึ่งเดิมสามารถให้บริการได้ 50 หลังคาเรือน เป็น 268 หลังคาเรือน พัฒนาระบบไฟฟ้าเดิมจาก 1 เฟส เป็น 3 เฟส งบประมาณ จำนวน 1.5 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภค บริโภค ที่สะอาด มีคุณภาพ และเพียงพอ โดยมีชาวบ้านในพื้นที่เดินทางมาร่วมยื่นหนังสือที่บริเวณหน้าศาลากลางด้วย



อย่างไรก็ตามนายสมศักดิ์ โยนกพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี และนางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มารับเรื่อง โดยได้นำเรื่องนี้เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งก็ได้ข้อสรุปว่าทางจังหวัดจะนำงบประมาณจากกองทุนรอบไฟฟ้าราชบุรีจำนวน 1 ล้านบาทเศษ ดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อเร่งช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนโดยเร็ว ทำให้ชาวบ้านพอใจและเดินทางกลับ