บทความที่ได้รับความนิยม

วันพุธที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2561

ราชบุรี ใช้โครงการ DARE ฝึกเด็กไม่ยุ่งเกี่ยวสิ่งเสพติด



ตำรวจ สภ.เมืองราชบุรีใช้โครงการ D.A.R.E นำเด็กนักเรียนเข้าเยี่ยมภายในสถานีตำรวจเพื่อดูตัวอย่างการทำงานและการกระทำผิดกฎหมายของประชาชนและสิ่งเสพติด 

                   ที่บริเวณสถานีตำรวจภูธรเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี  พ.ต.อ. อภิชาต พุทธบุญ ผู้กำกับ สภ.เมืองราชบุรี ร.ต.ท.รัฐภูมิ  โพธิ์ศรีดา รองสารวัตรสืบสวนและในฐานะครูตำรวจ D.A.R.E ของสถานีตำรวจภูธรเมืองราชบุรี พร้อมด้วยอาจารย์ ดวงกมล นักจะเข้ อาจารย์โรงเรียนเทศบาลหลักเมือง ได้นำเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 รวม 28 คน จากโครงการครู D.A.R.E มาศึกษาเรียนรู้การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง   ซึ่งมีเด็กๆทั้งชายหญิงได้ให้ความสนใจสอบถามความเป็นมาของแต่ละหน่วยงานด้วยความสนใจ
            ร.ต.ท.รัฐภูมิ  โพธิ์ศรีดา รองสารวัตรสืบสวนและในฐานะครูตำรวจ D.A.R.E  หรือ  DRUG ABUSE RESISTANCE EDUCATION  หรือ โครงการการศึกษาเพื่อการต่อต้านการใช้ยาสเสพติดในเด็กนักเรียน เปิดเผยว่า โครงการก่อตั้งประมาณปี  พ.ศ. 2542 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสมัยนั้น ได้นำโครงการการแก้ไขปัญหายาเสพติด ตั้งแต่นักเรียนจนถึงเยาวชนเข้ามาสู่ประเทศไทย เป็นโครงการของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยนำครูตำรวจแดร์เข้าฝึกอบรม และนำมาถ่ายทอดจนถึงขณะนี้เข้ามาปีที่ 16 แล้ว ใช้ครูตำรวจอบรมหลักสูตรนี้ทั้งหมด 13 บทเรียน นำมาสอนในนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 5-6 ทั่วประเทศไทย ขณะนี้มีครูตำรวจแดร์ทั้งหมด 10,000 คน  ในหนึ่งภาคเรียนจะเข้าสอนเด็กนักเรียนชั้นดังกล่าวคนละ 2 ห้องเรียน เฉลี่ยนักเรียนห้องละ 30-40 คน ทั่วประเทศเทอมหนึ่งประมาณ 20,000 ห้อง ปีหนึ่งประมาณ 40,000 ห้อง เมื่อรวมกับนักเรียนแล้วประมาณปีละ 3-4 แสนคน ขณะนี้ยอดสะสมของนักเรียนประมาณกว่า 1.9 ล้านคน
           โครงการดังกล่าวของตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรีมีครูตำรวจแดร์ อำเภอเมืองทั้งหมด 10 นาย     อบรมนักเรียนรวมกว่า 1,950  คน  ได้ทั้งหมด  16 โรงเรียน สิ่งที่นักเรียนได้รับจากโครงการการศึกษาเพื่อการต่อต้านการใช้ยาเสพติดในเด็กนักเรียน  ซึ่งเด็กๆจะได้เรียนรู้ทั้งหมด 13 บทเรียน เริ่มตั้งแต่ บุหรี่ กัญชา เหล้า สารละเหย ยาบ้า  รวมทั้งสิ่งเสพติดต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศ เด็กได้เรียนรู้การปฏิเสธอันดับแรกคือ โทษและพิษภัย เมื่อเข้าไปยุ่งเกี่ยวแล้วจะเกิดโทษอย่างไร และให้รู้จักการปฏิเสธด้วย สมมุติมีคนมาชักชวนให้เด็กสูบบุหรี่ ทางครูจะสอนนักเรียนว่า ไม่หรอกจะฝึกให้ใช้คำปฏิเสธว่าไม่เพราะบุหรี่เป็นสิ่งไม่ดีมีสารพิษมากมายมากกว่า 7,000 ชนิด หรือ ชวนดื่มสุรา ดื่มเบียร์ ของเด็กนักเรียนที่ขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หากได้เรียนก็จะช่วยเสริมทักษะภูมิคุ้มกันตรงนี้แล้วก็จะรู้จักปฏิเสธเป็น
              พ.ต.อ. อภิชาต พุทธบุญ ผู้กำกับ สภ.เมืองราชบุรี  กล่าวว่า ส่วนเมืองราชบุรีนั้น ทางผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และกองพลพัฒนาที่ 1 มีนโยบายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย โดยได้จัดเจ้าหน้าที่ในชุดพิเศษใช้ชุดเหยี่ยวดำออกปฏิบัติช่วง 22.00- 05.00น.ทุกวัน เป็นส่วนกำลังที่แยกออกมาจากการปฏิบัติหน้าที่ในชุดไล่ล่าเด็กแว้น เด็กซิ่ง  ซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชน มีมาตรการเมื่อมีการจับกุมตรวจยึดรถจักรยานยนต์ได้ ก็จะมีหลักการคือ ให้แก้ไข  หากยอมถอดท่อไอเสียที่ดัดแปลงให้เกิดเสียงดังและยอมมอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็จะดำเนินการปรับตามโทษที่น้อยลง ประมาณ 300-500 บาท  แต่ถ้าไม่ยอมสำนึกผิด โดยไม่ยอมแก้ไขปรับปรุง ทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการใช้มาตรการปรับทุกข้อหา มีอัตราโทษสูงสุด
               อย่างไรก็ตามทางครูตำรวจแดร์ได้พาเด็กๆเดินชมรถแต่งซิ่ง พร้อมอธิบายชิ้นส่วนอุปกรณ์ดัดแปลงรถจักรยานยนต์ให้แก่เด็กๆที่พยายามสอบถามว่ามีชิ้นไหนบ้างที่ผิดกฎหมาย  เช่น ท่อไอเสียที่ไปซื้อมาปรับแต่งให้เสียงดังจะมีราคาท่อละ 1,000 บาท  น็อตหัวสีทองเอาไว้แต่งซิ่งตัวละ 300 บาท  นอกจานี้ยังมีอุปกรณ์ต่างๆอีกหลายชนิด เช่น ล้อแม็ก คิ้วล้อรถ  รถคันหนึ่งมีอุปกรณ์ตกแต่งหลายหมื่นบาทต่อคัน และมีการยกตัวอย่างการทำงานของพ่อ แม่ ที่ทำงานได้ค่าแรงวันละ 300 บาท แต่ต้องนำเงินมาประกันตัวลูกที่มาถูกจับดำเนินคดีเกี่ยวกับเปลี่ยนแปลงสภาพรถในจุดต่างๆ ซึ่งมีโทษต่ำสุด 300 บาท ถึงสูงสุด 2,000 บาท ขณะที่พ่อแม่ทำงานได้ค่าแรงวันละ 300 บาท ยังติดลบต้องหาเงินไปประกันลูกอีก 1,700 บาท  เป็นตัวอย่างให้เด็กมองเห็นภาพที่ชัดเจนในการกระทำผิดกฎหมาย จึงถือเป็นโครงการที่ทำให้นักเรียนได้รู้โทษและพิษภัยของยาเสพติดทุกชนิด ที่มีผลกระทบต่อร่างกาย ได้เรียนรู้วิธีปฏิเสธเมื่อถูกชักชวนให้ทดลอง และยังได้รู้จักการคบเพื่อนที่ดีนำไปสู่การเป็นเยาวชนของชาติที่มีภูมิคุ้มกันที่ดีในอนาคต





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น