บทความที่ได้รับความนิยม

วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

:ราชบุรี เร่งแก้ปัญหาราคามะพร้าวน้ำหอมตกต่ำ

วิกฤตหนัก วอนรัฐช่วยเข้าช่วยเหลือ เร่งแก้ปัญหาเกษตรกรประสพปัญหามะพร้าวน้ำหอมราคาตกต่ำ สินค้าตกค้างจำนวนมากรอการส่งออก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรในพื้นที่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี กำลังเผชิญวิกฤตราคามะพร้าวน้ำหอมตกต่ำอย่างรุนแรง โดยราคาหน้าสวนลดลงเหลือเพียง 3–4 บาทต่อผล ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตที่เฉลี่ยอยู่ที่ 6 บาทต่อผล ส่งผลให้เกษตรกรเดือดร้อนอย่างหนัก ขณะที่ผลผลิตส่งออกกว่า 5 ล้านผลต่อสัปดาห์แต่ยังมีผลผลิตตกค้างจำนวนมาก สมาคมมะพร้าวน้ำหอมไทย ได้เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเร่งแก้ไขสถานการณ์ โดยขอให้กระทรวงพาณิชย์หาแนวทางกระจายผลผลิต และเปิดตลาดรองรับใหม่ พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากกระทรวงอุตสาหกรรมในการประสานโรงงานรับซื้อผลผลิตเพิ่มเติม
นายจรัญ เจริญทรัพย์ นายกสมาคมมะพร้าวน้ำหอมไทย เปิดเผยว่า “ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่กว่า 2 แสนไร่กำลังประสบปัญหาอย่างหนักจากราคาที่ตกต่ำ ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนการผลิตอย่างชัดเจน ทางสมาคมฯ ได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อเร่งหาทางกระจายสินค้าไปยังตลาดต่างจังหวัด และขยายตลาดส่งออกเพิ่มเติม โดยเตรียมจัดตั้งคณะทำงานด้านคุณภาพผลผลิตและกลไกราคาตลาด”
ด้าน นายชัยรัตน์ ศักดิ์อิสระพงษ์ คณะทำงานพรรคประชาชน กล่าวว่า ปัจจุบันมะพร้าวน้ำหอมจากไทยพึ่งพาตลาดส่งออกต่างประเทศเป็นหลักถึง 80% ซึ่งมักถูกกำหนดราคาโดยผู้ซื้อจากต่างประเทศ และถ่ายทอดแรงกดดันต่อเนื่องมายังล้ง และผู้รับซื้อในประเทศ ส่งผลให้ราคาที่เกษตรกรได้รับต่ำกว่ามาตรฐาน พร้อมเสนอให้ภาครัฐ โดยเฉพาะกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เร่งเจรจาขยายตลาดใหม่ อาทิ ยุโรป ตะวันออกกลาง และอเมริกา เพื่อลดการพึ่งพาตลาดเดิม และเพิ่มอำนาจต่อรอง นายชัยรัตน์ยังกล่าวอีกว่า “ปัจจุบันการรับรองมาตรฐาน Global GAP มีเพียง 300 รายต่อปี ซึ่งถือว่าน้อยมาก หากภาครัฐสามารถสนับสนุนงบประมาณให้ครอบคลุมเกษตรกรมากขึ้น จะช่วยยกระดับมาตรฐาน และเปิดประตูสู่ตลาดใหม่ที่ให้ราคาดีกว่าเดิมได้อย่างชัดเจน”
ขณะเดียวกัน นายวินัย ธีรทองดี เกษตรกรในพื้นที่ ให้ข้อมูลว่า ราคาผลผลิตที่ตกต่ำส่งผลให้เกษตรกรขาดทุนต่อเนื่อง บางรายไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้ โดยราคามะพร้าวหน้าสวนเฉลี่ยอยู่เพียง 3–5 บาทต่อผลเท่านั้น ทั้งนี้ ราคายังผันผวนขึ้นอยู่กับคุณภาพสินค้า และผู้รับซื้อบางรายยังถูกโรงงานต้นทางกดราคาอย่างหนัก“ราคาที่เหมาะสม และเกษตรกรอยู่ได้ ควรอยู่ที่ประมาณลูกละ 10 บาท จึงขอวิงวอนให้ภาครัฐช่วยเร่งหามาตรการระยะสั้นและยั่งยืนเพื่อพยุงราคา” นายวินัยกล่าว
ผู้ประกอบการรายหนึ่งกล่าวว่า “แม้จะต้องการช่วยเหลือเกษตรกร แต่เมื่อต้นทางบีบราคา ล้งก็ไม่สามารถขยับราคาได้อย่างอิสระ หากภาครัฐสามารถส่งเสริมให้ล้งรายย่อยขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง และพัฒนาเครื่องจักรของตนเอง ก็จะช่วยลดการพึ่งพานักลงทุนภายนอก และสร้างเสถียรภาพราคามากขึ้นในระยะยาว”ปัญหาหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคือการดำเนินการของ “ล้งมือปืน” ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติ มีสัดส่วนมากถึง 80% ของล้งในตลาด โดยล้งเหล่านี้จะเป็นผู้กำหนดราคาตามคำสั่งจากต่างประเทศ ส่งผลให้ผู้ซื้อในประเทศไม่สามารถตั้งราคาที่เหมาะสมกับต้นทุนได้
นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ได้ประสานงานกับหลายภาคส่วน เพื่อจัดตั้ง “ศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรจังหวัดราชบุรี” บริเวณพื้นที่ใกล้แหล่งผลิต เพื่อรวบรวมและจำหน่ายผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกร เป็นการลดตัวกลาง และสร้างรายได้ ในพื้นที่ซึ่งเป็นเซ็นเตอร์เป็นพื้นที่ผลิตและจัดจำหน่ายซึ่งเป็นจุดที่รวบรวมสินค้าจากเกษตรกรซึ่งอยู่ในกลุ่มของสมาคมมะพร้าวน้ำหอมไทยซึ่งจัดตั้งเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรกรจังหวัดราชบุรีจะสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายสินค้าได้เองโดยการรวมกลุ่มขึ้นมาเพราะองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรีมีความพร้อมที่จะสนับสนุนในส่วนที่สามารถดำเนินการได้จะประสานกับพาณิชย์จังหวัดและเกษตรเข้ามาร่วมเป็นการบูรณาการร่วมกันปัจจุบันก็คือราคามะพร้าวตกต่ำพร้อมทั้งประชุมเพื่อเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดพร้อมทั้งจะจัดเตรียมสถานที่ให้เร็วที่สุดเราไม่ได้ทำเพียงแก้ปัญหาในวันนี้แต่เราจะทำเพื่ออนาคตของผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมดําเนินสะดวกที่มีคุณภาพมากที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น