รองผู้ว่าราชบุรีลงพื้นที่หย่าศึกแย่งนํ้ากลุ่มรีสอร์ท ชาวบ้าน กลุ่มเครือข่ายนํ้าตกเก้าชั้น
นายณรงค์ พลละเอียด รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พ.อ.มนิต ศิริรัตนากุล เสธนาธิการทหารกรมพัฒนาที่ 1 จังหวัดราชบุรี นายสมศักดิ์ เหลืองจรุงรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตําบลสวนผึ้ง เจ้าหน้าที่โครงการฟื้นฟูธรรมชาติ โครงการอุทยานธรรมชาติวิทยา ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กลุ่มเครือข่ายคณะกรรมการนํ้าตกเก้าชั้น ( เก้าโจน ) กลุ่มผู้ประกอบการรีสอร์ท พร้อมชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจค่ายทัพยาเสือ กองกําสุรสีห์ และตํารวจตระเวนชายแดนที่ 137 อําเภอสวนผึ้ง เดินเท้าเข้าป่าลึกระยะทางขึ้นลงเขาไป - กลับราว 15 กิโลเมตร บริเวณป่าดิบชื้นบนเทือกเขาตะนาวศรี เขตติดต่อชายแดนไทย – พม่า หมู่ที่ 3 ตําบลสวนผึ้ง อําเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี หลังจากเกิดปัญหาความขัดแย้ง เปิดศึกแย่งชิงนํ้าเป็นปัญหาเรื้อรังมานานในช่วงหน้าแล้งระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคมของทุกปี มีการประชุมแก้ปัญหาหลายครั้งแต่ยังตกลงกันไม่ได้ เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการรีสอร์ทบางแห่งขึ้นไปสร้างฝายกักนํ้า ต่อท่อส่งนํ้าลงมาสู่หมู่บ้านเพื่อการบริโภค และการเกษตร ในขณะที่กลุ่มเครือข่ายคณะกรรมการนํ้าตกเก้าชั้นอ้างว่า ถูกต่อท่อนํ้าไปใช้ในรีสอร์ทจนทําให้นํ้าตกเก้าชั้นไม่มีนํ้า ส่งผลต่อการท่องเที่ยวในช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม ของทุกปี
ทางด้าน นายณรงค์ พลละเอียด รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหาลดความขัดแย้งจึงได้เชิญ กลุ่มผู้ประกอบการรีสอร์ท ชาวบ้าน กลุ่มเครือข่ายคณะกรรมการนํ้าตกเก้าชั้น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขึ้นไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ และแก้ปัญหาจัดการเรื่องนํ้าร่วมกัน เพราะทุกฝ่ายก็มีความจําเป็นเรื่องนํ้า ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการรีสอร์ทได้ว่าจ้างชาวบ้านในพื้นที่ต่อท่อนํ้า พีวีซี ขนาดประมาณ 8 นิ้ว จากต้นนํ้าห้วยอิมิ อยู่ติดกับชายแดนไทย – พม่า เพียง 300 เมตร ในราคากิโลเมตรละ 100,000 บาท เป็นระยะทาง 7 กิโลเมตรร่วม 700,000 บาท ปล่อยนํ้ามาตามท่อลงสู่หมู่บ้านผาปกค้างคาว เพื่อใช้ในรีสอร์ทส่วนหนึ่งให้ชาวบ้านกว่า 60 หลังคาเรือนในหมู่บ้านผาปกค้างคาว หมู่บ้านห้วยนํ้าขาว หมู่บ้านหัวสาม และสํานักสงฆ์บ้านหัวสาม หมู่ที่ 3 ได้ใช้จากท่อนํ้านี้เพื่ออุปโภค บริโภค และทําการเกษตร และห้วยที่มีการต่อท่อนํ้านั้นไม่ใช่ลําห้วยที่ไหลลงสู่นํ้าตกเก้าชั้น อย่างที่กลุ่มเคลือข่ายคณะกรรมการนํ้าตกเก้าชั้นเข้าใจ
ขณะที่กลุ่มเครือข่ายคณะกรรมการนํ้าตกเก้าชั้นชี้ว่า ลําห้วยดังกล่าวเป็นลําห้วยต้นนํ้าที่ไหลผ่านนํ้าตกเก้าชั้น หากมีการต่อท่อจะทําให้นํ้าไหลไปยังนํ้าตกเก้าน้อยน้อยลง ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเพราะไม่มีนํ้า และยังมีชาวบ้าน บ้านห้วยผากหมู่ที่ 7 ก็ใช้นํ้าจากลําห้วยบ่อคลึง ที่แยกจากนํ้าตกเก้าชั้นแห่งนี้ด้วย ทําให้เกิดการโต้เถียงกันขึ้นทั้งสองฝ่ายอย่างไม่จบสิ้น ทางจังหวัดจึงได้นัดหมายผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมกันขึ้นไปตรวจพิสูจน์ เพื่อลดการขัดแย้งกันในครั้งนี้
จากการตรวจพิสูจน์พบว่า แหล่งต้นนํ้านั้นไหลมาจากเทือกเขาตะนาวศรี และมีการกั้นฝายต่อท่อนํ้า ติดวาล์วปิด - เปิดไว้ 2 ช่วง เลาะไปตามลําห้วยลงสู่บ้านผาปกค้างคาว ส่วนลําห้วยอิมิจะแยกไปลงลําห้วยนํ้าตกเก้าชั้นในส่วนไหนนั้นก็ต้องตรวจพิสูจน์กันอีกครั้ง
นายณรงค์ พละเอียด รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี และ พ.อ.มนิต ศิริรัตนากุล เสธนาธิการทหารกรมพัฒนาที่ 1 จึงขอให้ทุกฝ่ายหาข้อตกลงร่วมกันว่า ในเดือนมีนาคมปีหน้านี้ จะทดลองปิดท่อส่งนํ้าดูว่า นํ้าตกเก้าชั้นจะแห้งจากคํากล่าวของกลุ่มเครือข่ายคณะกรรมการนํ้าตกเก้าชั้นหรือไม่ และหากปิดท่อแล้วจะทําให้ชาวบ้าน 60 หลังคาเรือนขาดนํ้าหรือไม่ โดยจะมีการขึ้นไปทดสอบกันอีกครั้งในเดือนมีนาคมนี้
สำหรับกรณีพิพาทที่ทางผู้ประกอบการรีสอร์ทเองก็ยินดีให้ปิดท่อ ดูว่าจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ แต่จะเกิดปัญหากับชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ไม่มีนํ้าใช้ในช่วงที่มีการปิด ซึ่งก็ต้องรอดูกันเพื่อแก้ปัญหาต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น