บทความที่ได้รับความนิยม

วันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2567

ราชบุรีทำบุญเมือง 207 ปี นางรำกว่า 2,000 คน รำบรวงสรวงศาลหลักเมือง

ทำบุญเมือง 207 ปี นางรำกว่า 2,000 คน รำบรวงสรวงศาลหลักเมืองนางรำขึ้นไปรำบริเวณสะพานคานขึงรถไฟแห่งแรกในประเทศไทย แลนด์มาร์คแห่งใหม่
ผูัสื่อข่าวรายงานว่า นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นำข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พ่อค้า และประชาชน ชาวจังหวัดราชบุรี จัดงานทำบุญเมืองราชบุรี และเฉลิมฉลองศาลเจ้าพ่อหลักเมืองราชบุรี ในวาระ ครบ 207 ปี พ.ศ. 2567 รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดราชบุรี ตลอดจนสืบสานสร้างสรรค์ ส่งเสริม อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ให้คงอยู่สืบไป และเพื่อก่อให้เกิดความรักความสมัครสมานสามัคคีปรองดองของประชาชน โดยพิธีเริ่มจากพิธีเจริญพระพุทธมนต์สมโภชน์เมือง และถวายปิ่นโตแด่พระภิกษุสงฆ์ 73 รูป มีพระธรรมปัญาภรณ์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 15 เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุวรวิหารเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นำเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นได้ร่วมกันปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงแม่น้ำแม่กลอง ครั้งนี้ได้นำปลายี่สก ปลาของดีจังหวัดราชบุรีน้ำหนักตัวละ 10 กิโลกรัม รวม 10 ตัว ปล่อยลงแม่น้ำแม่กลอง โอกาสนี้จังหวัดราชบุรีได้จัดพิธีบวงสรวงสักการะเจ้าพ่อหลักเมือง พร้อมนำนางรำกว่า 2,000 คน รำถวายทั้งสี่ทิศของศาลหลักเมืองราชบุรี และไฮไลท์คือการให้นางรำขึ้นไปรำบริเวณสะพานธนะรัชต์ และสะพานคานขึงรถไฟแห่งแรกในประเทศไทย แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของเมืองราชบุรี โดยสะพานคานขึงดังกล่าวไม่มีเสาตอม่ออยู่ในลําน้ำ สะพานมีความยาวรวม 340 เมตร โดยช่วงสะพานที่ขึงแม่น้ำแม่กลองมีความยาว 160 เมตร
นอกจากนี้การจัดงานทำบุญเมืองราชบุรียังได้จัดกิจกรรมอื่นประกอบด้วย การมอบสิ่งของให้แก่ผู้สูงอายุ 100 ปี ขึ้นไป/คนยากจน/ผู้ยากไร้ การมอบชุดลูกเสือ/ชุดเนตรนารี/ทุนการศึกษาแก่นักเรียน การแสดงของเด็กเยาวชน/สมาชิก TO BE NUMBER ONE การจำหน่ายสินค้าตลาดธงฟ้า/สินค้า OTOP การเปิดโรงเลี้ยงโรงทาน กิจกรรมจิตอาสา สำหรับประวัติความเป็นมาจังหวัดราชบุรี โดยเมื่อพุทธศักราช 2360 วางศิลาฤกษ์ฝังหลักเมืองราชบุรีใหม่ สืบเนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายตัวเมืองราชบุรีจากฝั่งขวา (ฝั่งตะวันตก บริเวณตำบลบ้านไร่ เดิมชื่อตำบลอู่เรือไปอยู่ฝั่งตรงข้ามทางฝั่งซ้าย ฝั่งตะวันออก ปัจจุบันคือที่ตั้งของกรมการทหารช่าง ของแม่น้ำแม่กลอง เนื่องจากทรงเห็นว่าที่ตั้งเมืองเดิมไม่เหมาะสมในทางยุทธศาสตร์ เมื่อทำศึกภัยพม่าที่สมรภูมิทุ่งเขางู หากฝ่ายไทยเสียทีจะถอยทัพลำบากเพราะมีแม่น้ำขวางอยู่
การวางศิลาฤกษ์ฝังหลักเมืองใหม่นี้มีการสมโภช 3 วัน 3 คืน เริ่มตั้งแต่วันอังคาร แรม 13 ค่ำ เดือน 6 ปีฉลู จุลศักราช 1179, ร.ศ.36 ตรงกับวันอังคารที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2360 จนถึงวันพฤหัสบดี 15 พฤษภาคม พ.ศ.2360 แล้วจึงการก่อสร้างกำแพงเมืองและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ต่อไปจนแล้วเสร็จ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น